“AI เจนใหม่” คิดเอง ทำเอง ได้แล้ว โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ?

เทคโนโลยี AI ก้าวล้ำมาถึงจุดที่เริ่มคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจแทนมนุษย์ได้แล้ว ซึ่ง AI ที่ว่านั่นก็คือ 'Agentic AI' และกำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกดิจิทัล หาก AI สามารถคิดเอง ตัดสินใจเองได้ ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือเกิดตัดสินใจผิดพลาดขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ ?
![1698 [Converted]](https://img2.pic.in.th/pic/AI-----.jpg)
เพื่อรับมือกับความท้าทายและทำความเข้าใจให้ตรงกัน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โดย ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AIGC จึงเปิดเวที ETDA Live เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้าในวงการ AI ผู้พัฒนาและผู้ใช้งานจริงจากหลายวงการ ทั้งจากบริษัท กสิกร บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป, Coraline, Guardian AI Lab และตัวแทนจากศูนย์ AIGC มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมให้ข้อเสนอแนะการรับมือกับความล้ำของ Agentic AI ในงาน
AI Governance Webinar 2025 EP2 ภายใต้หัวข้อ
‘เมื่อ AI ตัดสินใจแทนมนุษย์ ใครคือผู้ควบคุม ?’Agentic AI เทคโนโลยีที่พร้อมเปลี่ยนโลก ? Agentic AI คือ AI ที่รวมความสามารถหลากหลายด้านไว้ในระบบเดียว จนเกิดเป็น AI ใหม่ สามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน ตัดสินใจ และลงมือทำเองได้แบบ 'Autonomy' ที่ไม่ใช่แค่ 'ทำตามคำสั่ง แต่ยังสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ ต่างจาก AI แบบเดิมที่เป็นเพียงระบบอัตโนมัติที่ออกแบบมาให้ทำงานเฉพาะด้าน ตอบสนองต่อคำสั่งเฉพาะอย่าง เช่น วิเคราะห์ตัวเลข คาดการณ์แนวโน้มตลาด หรือจัดการคำถามลูกค้า โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่ถูกฝึกมา แต่ยังไม่สามารถคิดหาวิธีเลือกสิ่งที่ดีที่สุดหรือตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
โดยผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า ปัจจุบัน AI แบ่งออกเป็น 4 Stage ตามความสามารถ ดังนี้
Stage 1 : Logic-Based AI คือ AI ที่ทำงานตามคำสั่งหรือเงื่อนไขแบบตายตัว เช่น กด 1 ไปหน้า A, กด 2 ไปหน้า B แต่ยังไม่มีความสามารถในการเรียนรู้หรือปรับตัว
Stage 2 : Limited Resource AI คือ AI ที่ต้องมีข้อมูลต้นทางมาฝึกฝน มีความสามารถในการเรียนรู้ และตอบสนองต่องานเฉพาะด้าน เช่น AI ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คาดการณ์แนวโน้ม เช่น raditional AI, Machine Learning, LLM หรือ Generative AI แต่ยังคิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยข้อมูลที่มีอยู่
Stage 3: Theory of Mind AI คือ AI ที่สามารถเรียนรู้ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของมนุษย์ได้ ทำให้เริ่มมีความคิดสร้างสรรค์และมีความใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากขึ้น
Stage 4: Self-awareness AI คือ AI ที่สามารถเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม และพัฒนาตัวตน สร้างบุคลิกและมีความคิดเป็นของตัวเองได้ เหมือนที่เราเห็นกันในหนัง Sci-Fi
โดย Agentic AI ยังอยู่ในช่วงยุคปลายของ Stage 2 ที่กำลังจะก้าวไปสู่ Stage ที่ 3 ในอีกไม่ช้า ในช่วงรอยต่อสำคัญนี้ ก็เริ่มมีการนำ Agentic AI ไปใช้ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อ หรือใช้ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ภาคธุรกิจการค้า นำมาช่วยคาดการณ์ยอดขาย วางแผนการตลาด และบริหารสต็อกสินค้าแบบอัตโนมัติ ภาคเทคโนโลยี มีการพัฒนา Agentic AI ให้เป็นผู้ช่วยด้านการเขียนโปรแกรมที่สามารถวางโครงสร้าง เขียนโค้ด ทดสอบฟังก์ชัน และรันระบบได้ในขั้นตอนเดียว ซึ่งล้วนแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เร่งกระบวนการตัดสินใจให้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุน ลดภาระงาน และช่วยให้มนุษย์มีเวลาไปโฟกัสกับงานที่ต้องใช้วิจารณญาณที่ AI ยังทำแทนไม่ได้
เมื่อ AI เริ่มคิดเอง ทำเองได้ มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ต้องใส่ใจ ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องตรงกันว่า Agentic AI มีความเสี่ยงที่ต้องระวัง 4 เรื่องใหญ่ ๆ คือ
แม้จะคิดเองได้ แต่ก็อาจตัดสินใจพลาดได้เช่นกัน หากข้อมูลที่ใช้มีอคติ บิดเบือน ไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด และยากต่อการตรวจสอบย้อนหลัง
เมื่อ Agentic AI ทั้งเก่งและฉลาดมากขึ้น อาจทำให้ผู้ใช้เผลอพึ่งพา AI มากจนเกินไป โดยไม่ตรวจสอบ กลั่นกรอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้
ยิ่งใช้ Agentic AI หลายตัว ยิ่งซับซ้อน ยิ่งตรวจสอบย้อนกลับยาก หากไม่มีระบบที่สามารถอธิบายการตัดสินใจได้อย่างโปร่งใส หรือไม่มีระบบติดตามเส้นทางการทำงานที่ชัดเจน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมาจะยากต่อการตรวจสอบ
อาจขัดต่อกฎหมาย จริยธรรม และความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญอย่างการดูแลผู้ป่วยหรือการควบคุมระบบความปลอดภัย อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้
AI อาจสร้างความเสี่ยง AI Governance จึงสำคัญ
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาจมาพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมี AI Governance ที่เป็นกรอบจริยธรรมและธรรมาภิบาล AI เพื่อให้การใช้งาน AI เหมาะสม ปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนว่าใครสร้าง ใครใช้ ใครดูแล ใครรับผิดชอบ
หลายๆ องค์กรจะเริ่มตื่นตัว และวางแนวทาง AI Governance ของตัวเองไว้แล้วเพื่อให้สามารถใช้งาน Agentic AI ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แต่ในระดับประเทศก็เลี่ยงไม่ได้ที่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ แนวปฏิบัติ เพื่อเป็นมาตรฐานกลาง สำหรับการกำกับดูแลให้เกิดการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล โดยผู้เชี่ยวชาญจาก ETDA ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วเกินกว่าที่กฎหมายจะตามทัน ดังนั้น กฎหมาย AI ของไทยหากเกิดขึ้นจริง จึงไม่ควรเข้มงวดจนปิดกั้น แต่ต้องยืดหยุ่นได้ เพื่อเปิดทางให้ผู้ใช้ที่ดีสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ต้องปิดช่องโหว่ที่อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด พร้อมควบคุมความเสี่ยง ป้องกันความเสียหาย และจัดการผู้ไม่หวังดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Agentic AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีใหม่ธรรมดา แต่มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การปฏิวัติระบบเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตของผู้คนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงไม่ควรกังวลหรือหวาดกลัว แต่ควรมองอย่างเปิดใจว่านี่คือโอกาสครั้งใหญ่ที่เราอาจต้องรีบคว้าด้วยการเตรียมความพร้อมและเร่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนา
โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้คนไทยเปลี่ยนบทบาทจาก 'ผู้ใช้' เป็น 'ผู้สร้าง' โดยการพัฒนาโซลูชันของเราเอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติที่ ควบคู่ไปกับการวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนา AI เช่น การสร้างแพลตฟอร์มกลางรวมโมเดล AI ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ และสตาร์ทอัพเข้าถึงได้ง่าย เลือกใช้งานได้อย่างมั่นใจ และจัดให้มีพื้นที่ AI Sandbox ทดสอบ AI ก่อนนำไปใช้งานจริง และต้องเร่งสร้างบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์และทักษะในการทำงานร่วมกับ AI โดยเฉพาะ Critical Thinking ทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลและรู้เท่าทันการใช้งาน AI
ขอบคุณที่มาโดย : ฐานเศรษฐกิจ
ขอบคุณภาพโดย : AI-generated on Freepik
บทความน่าสนใจ : 5 จุดเด่น ในการใช้ Generative AI ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม >> คลิกที่นี่