A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

NEWS

    

ตลาดชิปทั่วโลกโตแรง Gen AI ดันยอดขายแตะ 23.7 ล้านล้านบาท

ตลาดชิปทั่วโลกโตแรง Gen AI ยอดขายแตะ 23.7 ล้านล้านบาททท


ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในปีนี้เดินหน้าสู่การเติบโตครั้งใหญ่ หลังได้รับแรงหนุนกระแส Gen AI มูลค่ายอดขายแตะ 23.7 ล้านล้านบาท ในขณะที่ไทยเร่งดันสู่ศูนย์กลางอาเซียน

คุณอิง ฮาว แทน Assurance Leader บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาครบวงจรชั้นนำของโลก เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกกำลังเดินหน้าสู่การเติบโตครั้งใหญ่ในปี 2568 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการพัฒนาและการใช้งานของชิป Generative AI (Gen AI) ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลของ World Semiconductor Trade Statistics ระบุว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีการเติบโตประมาณ 19% โดยมีมูลค่าการขายรวมอยู่ที่ 627 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21.3 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปี 2568 ยอดขายทั่วโลกจะพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 697 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 23.7 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะภูมิภาคอเมริกาและเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตแบบเลขสองหลักอยู่ที่ 15% และ 10% ตามลำดับ

ขณะเดียวกันรายงานแนวโน้มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกปี 2568 จากดีลอยท์ (Deloitte) ยังประเมินว่ามูลค่าตลาดชิปทั่วโลกอาจแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 7.5% ระหว่างปี 2568 - 2573

ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2567 มูลค่ารวมตามราคาตลาดของ 10 บริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ที่ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 221 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 93% จาก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 115.6 ล้านล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2566 ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงแรงหนุนจากความต้องการชิปที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแอปพลิเคชันด้าน Enterprise, Edge, คอมพิวเตอร์, สมาร์ตโฟน, IoT, AI รวมทั้ง Gen AI และ AI แบบ Machine Learning โดยเฉพาะในกลุ่มชิปที่เกี่ยวข้องกับ Data Center เช่น หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU), ชิปสื่อสาร และชิปพลังงาน

แม้ว่าตลาด PC และ สมาร์ตโฟนจะเริ่มชะลอตัวลง โดย IDC คาดการณ์ว่ายอดขายสมาร์ทโฟนในปี 2568 จะเติบโตเพียง 6% และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะเติบโตเพียง 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ความต้องการชิป Gen AI ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่ผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ทั้งนี้ ในปี 2568 ผู้บริหารในอุตสาหกรรมควรให้ความสำคัญกับหลายประเด็น เช่น ความแตกต่างระหว่างการลงทุนจำนวนมหาศาลในเทคโนโลยี Gen AI กับศักยภาพในการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลายธุรกิจยังคงยึดแนวคิดว่า “ความเสี่ยงจากการลงทุนไม่พอ มีมากกว่าการลงทุนเกินไป” แต่หากมุมมองนี้เปลี่ยน ความต้องการชิป Gen AI อาจลดลงเกินกว่าที่คาดไว้

ในอีกมิติหนึ่ง การแข่งขันจากกลุ่มสตาร์ทอัพมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 ไตรมาสหลังของปี 2567 ที่มีเงินลงทุนจากเวนเจอร์แคปปิตอลเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านชิปกว่า 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.58 แสนล้านบาท โดย 30% ของการลงทุนมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีชิป AI ซึ่งหลายรายสามารถนำเสนอโซลูชันเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ตลาด เช่น แอปพลิเคชันบนพื้นฐาน RISC-V ชิปเล็ต โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) และวงจรรวมโฟโตนิก

นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลงทั้งในสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น จะเอื้อต่อการควบรวมกิจการ (M&A) โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่มีทรัพย์สินทางปัญญา (IP) แต่ขาดศักยภาพแข่งขัน ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมายเข้าซื้อ อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและความขัดแย้งทางการค้าโลกอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อข้อตกลงเหล่านี้

ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ทั่วโลกส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะนโยบายการย้ายฐานผลิตกลับประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายากจากจีน เช่น ทังสเตนและเทลลูเรียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการผลิตชิป ส่งผลให้การจัดการวัสดุและสินค้าคงคลังมีความซับซ้อนมากขึ้น อุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและปรับกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์และราคาให้เหมาะสม

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า รายงานว่าการนำเข้าแผงวงจรไฟฟ้า (IC) ของไทยในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 680,000 ล้านบาทในปี 2566 เป็น 870,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 27% โดยมีแหล่งนำเข้าหลักจากไต้หวัน 380,000 ล้านบาท จีน 90,000 ล้านบาท เกาหลีใต้ 73,000 ล้านบาท และญี่ปุ่น 73,000 ล้านบาท ส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 มีมูลค่านำเข้ารวม 130,000 ล้านบาท ลดลง 2.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่การนำเข้าอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด (O-S-D) ในปี 2567 ลดลงเหลือประมาณ 110,000 ล้านบาท จาก 120,000 ล้านบาทในปี 2566 หรือหดตัว 13% โดยจีนยังเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญที่มูลค่าลดลงถึง 34% เหลือ 42,000 ล้านบาท ญี่ปุ่น 15,000 ล้านบาท และสหรัฐฯ 14,000 ล้านบาท ส่วนช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 มีมูลค่านำเข้า O-S-D อยู่ที่ 17,000 ล้านบาท ลดลง 9.6%

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังวางตำแหน่งตนเองให้เป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติสิทธิพิเศษลงทุนมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทให้กับบริษัทจากไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่มีความแม่นยำสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และยังส่งเสริมบริษัท Power Electronics ชั้นนำของโลกให้ลงทุนสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์แห่งที่ 3 ของตนที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรองรับความต้องการในภาคยานยนต์ไฟฟ้า ศูนย์ข้อมูล และระบบจัดการพลังงานสะอาด โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2569

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต โดยตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงิน FDI มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ภายในปี 2572 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกทั้งในต้นน้ำและปลายน้ำ

ขอบคุณที่มาโดย : ฐานเศรษฐกิจ ขอบคุณภาพโดย : xb100 on Freepik อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม >> คลิกที่นี่