A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

NEWS

    

“เอกนัฏ” เผย “มูราตะ” ขยายลงทุนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเล็กโทรนิกส์

“อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเล็กโทรนิกส์"

“เอกนัฏ” เผย “มูราตะ” ขยายลงทุนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเล็กโทรนิกส์ หลังบินหารือ ญี่ปุ่น ครองแชมป์การลงทุนในอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสประชุมหารือ ร่วมกับ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก และได้ดำเนินกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน

ซึ่งจากการหารือได้ทราบว่าบริษัท มูราตะฯ ประกาศเดินหน้าลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยอาคารโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้ จะใช้ผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Capacitors: MLCC) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะที่ใช้เพิ่มความเสถียรในอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ยานยนต์ และดาวเทียม ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40%

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า เมื่อโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้แล้วเสร็จจะเสริมให้บริษัท มูราตะ มีฐานการผลิต MLCC ในต่างประเทศ 4 แห่ง คือ เมืองอู๋ซี ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย ส่วนอีก 2 แห่งในเมืองฟูกูอิ และอิซูโมะ ประเทศญี่ปุ่น โดยทางมูราตะ มีการวางแผนขยายกำลังการผลิต ปีละ 10% โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูราตะ ได้ขยายกำลังการผลิตของ MLCC กว่า 3 เท่า เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเติบโตทั้งระยะกลางถึงระยะยาวในความต้องการชิ้นส่วน MLCC ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้งานของสมาร์ตโฟนที่ใช้เทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ย่อส่วน อุปกรณ์ IoT ที่มากขึ้น

“มูราตะถือเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดลำพูน เมื่อ 35 ปีที่แล้ว และมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือคิดเป็น 40% ของมูลค่าการลงทุน ในจังหวัดลำพูน สร้างการจ้างงานกว่า 4,000 ตำแหน่ง โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูราตะเลือกมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือของไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านแรงงาน ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีค่าแรงที่ถูกกว่าพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมทั้งไม่มีมีปัญหาในการแย่งชิงแรงงาน และปัจจัยด้านการขนส่ง เนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีน้ำหนักเบา จึงมีต้นทุนการขนส่งต่ำ และใช้การ ขนส่งทางอากาศได้ โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นอันดับหนึ่งในการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทย มีบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนสูงถึง 1,973 ราย คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 29 ของจำนวนนักลงทุน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหารและยาง” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมาประสบกับสถานการณ์อุทกภัย และอาจทำให้ทางบริษัท มูราตะ เกิดความกังวลใจว่าอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับให้กระทรวงฯ เตรียมมาตรการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งตั้งแต่เกิดปัญหาเมื่อปลายปี 2554 หลังจากนั้นไม่เคยเกิดสถานการณ์น้ำท่วมอีก จึงขอให้ทางบริษัท มูราตะ มั่นใจว่ากระทรวงฯจะดูเรื่องการป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มที่

“ขอให้บริษัท มูราตะ มั่นใจในศักยภาพของนิคมฯ เวิลด์ลำพูน โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการลงทุนของมูราตะไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ และการจ้างงานในพื้นที่ แต่ยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานสะอาด” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า บริษัท มูราตะ ร่วมกับ กนอ. ในการเปลี่ยนแปลงสภาพในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568 และจะดำเนินการเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นเขตประกอบการเสรี และการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2570 ขณะเดียวกันทางบริษัท มูราตะ ยังมีแผนที่จะขยายการลงทุน สร้างโรงงานขนาดใหญ่อีก 2 โรงงาน (พื้นที่รวม 120,000 ตร.ม.) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ลำพูน เพื่อผลิตตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MLCC) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 นอกจากนี้ ทางบริษัท มูราตะ ยังคงมุ่งมั่นใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ในโรงงานให้ได้ภายในปี 2578 ซึ่งเร็วกว่าแผนปกติที่วางไว้ในปี 2593 ขณะที่เรื่องของการการบริหารจัดการน้ำ บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการขยายกำลังการผลิตในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2593