20 December 23 by Nichaphan.w
กพร. เปิดผลสำเร็จการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตแกมมาอะลูมินาจากแหล่งแร่ดินขาวภายในประเทศ พร้อมโชว์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อะลูมินากัมมันต์ สำหรับใช้เป็นวัสดุดูดซับและรองรับสารเร่งปฏิกิริยา สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 75 เท่า
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของ กพร. คือ การบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด ผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศด้วยการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าแร่จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตวัตถุดิบคุณภาพสูงจากแหล่งแร่ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ นายธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ เรื่อง “เทคโนโลยีการสกัดอะลูมินาจากแร่ดินขาวสำหรับใช้เป็นวัสดุดูดซับและรองรับสารเร่งปฏิกิริยา” ของ กพร. ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงแรมสยาม แอท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล กรุงเทพฯ
นายธีรวุธฯ กล่าวว่า กพร. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบขั้นสูงจากแร่ดินขาวสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาและขยายผลเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบคุณภาพสูงจากแหล่งแร่ดินขาวภายในประเทศที่มีอยู่ของ กพร. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสารประกอบอะลูมินาไตรไฮดรอกไซด์ (Alumina Trihydroxide) หรืออะลูมินาไตรไฮเดรต (Alumina Trihydrate) หรือ ATH จากแหล่งแร่ดินขาวศักยภาพภายในประเทศ โดยประสบผลสำเร็จสามารถแยกและสังเคราะห์ ATH จากแร่ดินขาวในประเทศด้วยเทคโนโลยีการเผาเปลี่ยนโครงสร้างของแร่ดินขาวและชะละลายด้วยกรดซัลฟิวริก ซึ่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สังเคราะห์ได้มีสมบัติเทียบเท่าผลิตภัณฑ์ ATH ทางการค้า กพร. จึงจัดสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ในครั้งนี้
และในปีนี้ เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ กพร. ประสบความสำเร็จในการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตแกมมาอะลูมินาจากแหล่งแร่ดินขาวในประเทศ จากแร่ดินขาวเกรดเซรามิกมูลค่า 4,000 บาทต่อตัน เมื่อสังเคราะห์และผลิตเป็นอะลูมินา (Alumina) สำหรับใช้เป็นวัสดุดูดซับและรองรับสารเร่งปฏิกิริยา จะสร้างมูลค่าได้ถึง 300,000 บาทต่อตัน คิดเป็นมูลค่าเพิ่มมากกว่า 75 เท่า โดยอะลูมินากัมมันต์ (Activated Alumina) ที่ กพร. ได้พัฒนาขึ้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากแกมมาอะลูมินาที่สังเคราะห์ขึ้นจากแร่ดินขาว โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรม และผ่านการประเมินทางด้านเศรษฐศาสตร์แล้วว่า มีความคุ้มค่าในการผลิตในเชิงพาณิชย์