A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

NEWS

    

ไทยออยล์ คาด ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังตลาดคาด FED ใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย

ไทยออยล์

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้( 17 – 21 ก.ค. 66) มีแนวโน้มทรงตัว หลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ใกล้ยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย โดยคาด FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป

นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น หลังตัวเลขการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน มิ.ย. ปรับลดลง ขณะที่ EIA ปรับลดคาดาการณ์การผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประกอบกับผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในเม็กซิโก ซึ่งกระทบกำลังผลิตราว 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากการปรับลดการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของจีนในช่วงครึ่งหลังของปีลง หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณอ่อนแออย่างต่อเนื่อง ขณะที่ FGE คาดอุปทานน้ำมันดิจากไนจีเรีย, อิหร่าน, เวเนซุเอลาและเม็กซิโกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ใกล้สิ้นสุด หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน มิ.ย. 66 ปรับลดลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 3.0% โดยล่าสุด FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักสำหรับโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 5.50-5.75% ในช่วงสิ้นปี 2566 จากระดับ 32.4% สู่ระดับ 21.0% อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไปซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 26-27 ก.ค. นี้

รายงานของ Kpler บ่งชี้ว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบทางทะเลของรัสเซียในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 0.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัสเซียประกาศลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 66

อุปทานในภูมิภาคอเมริกามีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังบริษัท Pemex เผยว่าผลกระทบจากเหตุระเบิดที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบ Cantarell และ Ku-Maloob-Zaap ซึ่งมีกำลังผลิตที่ระดับ 0.17 และ 0.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลต่อกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นราว 5% ของกำลังผลิตน้ำมันดิบของเม็กซิโก โดยคาดว่าแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบจะกลับดำเนินการตามปกติในช่วงต้นเดือน ส.ค.

รายงาน EIA (เดือน ก.ค.) ปรับลดคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลง 0.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ในปี 2566 จะเติบโตที่ระดับ 0.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 12.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้าน Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับสิ้นสุด ณ วันที่ 7 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 5 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 680 แท่น

สำนักงานสถิตแห่งชาติจีนรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% และลดจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.2% ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะ ภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจส่งผลกระทบความต้องการใช้น้ำมันของจีน ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ขณะที่ตลาดจับตาการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน อันได้แก่ จีดีพี ไตรมาสที่ 2 และดัชนียอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 66

รายงาน FGE (เดือน ก.ค.) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีนี้เติบโตที่ระดับ 2.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยความต้องการใช้น้ำมันโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะเติบโตที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากครึ่งแรกของปีที่ระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเผชิญความไม่แน่นอน โดยคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของจีนจะเติบโตที่ระดับต่ำกว่า 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 4 และลดลงจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ในรายงานเดียวกัน FGE ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบโลกขึ้น 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณการผลิตของนอร์เวย์และบราซิลสูงกว่าคาดการณ์ราว 0.13 และ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ FGE ยังคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบของไนจีเรีย, อิหร่าน, เวเนซุเอลาและเม็กซิโกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 – 14 ก.ค. 66)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (CPI) เดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% และลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.0% ส่งผลให้ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ ใกล้จะสิ้นสุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ก.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9 ล้านบาร์เรลสู่ระดับ 458.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.5 ล้านบาร์เรล