เตรียมรับมือกับ COBOT เมื่อหุ่นยนต์ต้องทำงานเคียงข้างคุณ

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนากระบวนการผลิตสามารถเพิ่มกำลังการผลิต กำไร ประสิทธิภาพ และลดต้นทุนได้ หลายภาคส่วนอุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัวด้วยการยอมรับการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์หรือระบบอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
หุ่นยนต์ผู้ช่วย หรือ โคบอท (Cobot : Collaborative Robot) ไม่เพียงเป็นตัวแทนของเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเปลี่ยนวิธีการทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่โรงงานผลิตสินค้าไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น การใช้ Cobot ประกอบชิ้นส่วนสำคัญอย่างรวดเร็วและแม่นยำในโรงงานผลิตยานยนต์ หรือ
นำมาช่วยบรรจุสินค้า เพื่อประหยัดเวลาและลดต้นทุนแรงงาน เป็นต้น การนำ Cobot เข้ามาใช้งานยังเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เต็มไปด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
Cobot ต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปอย่างไร ?Cobot แตกต่างจาก
หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ทั่วไปในด้านความสามารถในการทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ ด้วยซอฟต์แวร์ที่ง่ายและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน นอกจากนี้ Cobot ยังมีขนาดที่กะทัดรัด ติดตั้งง่าย สามารถปรับการตั้งค่าและเปลี่ยนอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการทำงานที่แตกต่างกัน เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน
Cobot แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักตามลักษณะการใช้งานและเทคโนโลยีที่ใช้ ได้แก่1. Safety Monitored Stop Cobot ออกแบบมาให้หยุดทำงานทันทีเมื่อมนุษย์เข้าใกล้พื้นที่การทำงาน โดยใช้
เซนเซอร์ ตรวจจับความเคลื่อนไหวหรือระยะทาง เหมาะกับงานที่ต้องการความปลอดภัยสูงสุด เช่น การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก
2. Speed and Separation Monitoring Cobot ปรับเปลี่ยนความเร็วหรือหยุดการทำงานได้ตามระยะปลอดภัยระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ โดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับและระบบควบคุมความเร็ว เหมาะกับงานที่ต้องการความยืดหยุ่นและการทำงานร่วมกับมนุษย์ในพื้นที่ใกล้ชิด
3. Power and Force Limiting Cobot หากเกิดการชนหรือสัมผัสกับมนุษย์จะมีการจำกัดแรงและพลังงานที่ใช้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ออกแบบให้มีโครงสร้างที่ปลอดภัยและใช้งานในพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้รั้วกั้นหรือมีอุปกรณ์ป้องกันได้
4. Hand Guiding Cobot รองรับการควบคุมโดยตรงจากมนุษย์ผ่านการจับที่ส่วนปลายหรือจุดควบคุม เหมาะกับงานที่ต้องการความแม่นยำสูง เช่น การประกอบชิ้นส่วนเล็กหรือการตรวจสอบคุณภาพ
Cobot มีความปลอดภัยหรือไม่ ?Cobot ออกแบบด้วยฟีเจอร์ต่าง ๆ มากมายเพื่อให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น ระบบจำกัดแรง (Force Limiting) เพื่อไม่ให้แรงของ Cobot เกินค่าที่กำหนด หากเกิดการชนกับมนุษย์หรือวัตถุ เซนเซอร์จะตรวจจับและหยุดการทำงานทันที เป็นการป้องกันความเสียหาย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน
เมื่อต้องทำงานร่วมกับ Cobot รับมืออย่างไร ?1. ออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกันการสร้างพื้นที่ทำงานที่เหมาะสมเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัย พื้นที่ในการทำงานควรกำหนดขอบเขตชัดเจน เช่น การใช้เส้นแบ่งเขตและอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อแยกโซนการทำงานของ Cobot และพนักงาน รวมถึงการใช้เซนเซอร์สำหรับการตรวจจับและควบคุมความเร็ว
2. การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับ Cobotพนักงานที่ทำงานร่วมกับ Cobot ควรได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้งานและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น วิธีปิดการทำงานของ Cobot ในกรณีฉุกเฉิน ตลอดจนการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยลดความกังวลของพนักงานและเพิ่มความมั่นใจในการทำงาน
3. การบริหารจัดการความเสี่ยงในสถานที่ทำงานการติดตั้งเซนเซอร์และการตั้งค่าขีดจำกัดของการเคลื่อนไหวจะช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น การชน การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิด หรือการติดตั้ง Cobot ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ การตรวจสอบ การประเมิน การวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างความปลอดภัยในระยะยาว
4. การบำรุงรักษาและตรวจสอบความปลอดภัยของ Cobotการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) และการตรวจสอบประสิทธิภาพ เช่น การทดสอบเซนเซอร์ การหล่อลื่นชิ้นส่วน และการอัปเดตซอฟต์แวร์ ควรดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การมีบันทึกการตรวจสอบจะช่วยติดตามปัญหาและป้องกันความเสียหายก่อนเกิดขึ้นได้
5. การสร้างความไว้วางใจและความสบายใจในการทำงานร่วมกันการออกแบบ Cobot ให้เคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลและคาดการณ์ได้นั้น จะช่วยเพิ่มความมั่นใจของพนักงาน นอกจากนี้ การใช้ฟีดแบ็กแบบเรียลไทม์ เช่น
ไฟสถานะหรือเสียงแจ้งเตือน จะช่วยให้พนักงานรับรู้ถึงสถานะการทำงานของ Cobot และลดความกังวลในระหว่างการทำงานร่วมกัน
6. การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในสถานที่ทำงานการใช้เทคโนโลยี Simulation ช่วยจำลองสถานการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบของ Cobot ต่อการทำงานจริง ตัวอย่างเช่น การปรับค่าพารามิเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นความเร็วหรือแรงที่ใช้ จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเพิ่มความปลอดภัยในสายการผลิตมากขึ้น
5 ตัวอย่างแบรนด์ Cobot ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย1. Universal Robots (UR) เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกและเป็นที่นิยมในประเทศไทย ด้วยความสามารถในการปรับตัวสูง ใช้งานง่าย เหมาะกับงานหลากหลายประเภท อาทิ การประกอบชิ้นส่วน การบรรจุผลิตภัณฑ์ และการตรวจสอบคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ ยังมีราคาเริ่มต้นที่เข้าถึงได้ง่าย พร้อมระบบสนับสนุนหลังการขายที่ครอบคลุมในประเทศไทย
2. ABB Robotics เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในงานที่ต้องการความแม่นยำ เช่น การเชื่อมโลหะ การตรวจสอบคุณภาพด้วยภาพ
และการขนส่งวัสดุภายในโรงงาน พร้อมทั้งมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและการบำรุงรักษาระยะยาว
3. KUKA Robotics มีจุดเด่นในเรื่องของการออกแบบที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมหนัก เช่น การประกอบในอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนย้ายวัสดุที่มีน้ำหนักมาก
4. Fanuc มีชื่อเสียงด้านความทนทานและเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับโรงงานที่ต้องการใช้งาน Cobot อย่างต่อเนื่องในกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน
5. Techman Robot เน้นการใช้งานร่วมกับ
ระบบ AI และการเชื่อมต่อ IoT เหมาะกับอุตสาหกรรมที่ต้องการความยืดหยุ่นและการทำงานแบบอัตโนมัติขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมอาหาร
Cobot หรือ หุ่นยนต์ผู้ช่วย ได้รับการออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ ไม่ได้มาแทนที่มนุษย์ สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย มีการเรียนรู้การทำงานใหม่ ๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกันได้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยเปลี่ยนวิธีการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในหลากหลายอุตสาหกรรม การนำ Cobot มาประยุกต์ใช้ด้วยความเข้าใจและการวางแผนที่เหมาะสมจึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพในก้าวต่อ ๆ ไป
ขอบคุณที่มาโดย : Pisit Poocharoen. MM MODERN MANUFACTURING , SIMTEC INSTITUTE ขอบคุณภาพโดย : Rawpixel.com on Freepik บทความน่าสนใจ : ‘SWIFTI CRB 1300’ โคบอทอุตสาหกรรม ความเร็วสูง แม่นยำ และปลอดภัย
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม >> คลิกที่นี่