A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

NEWS

    

กพร. หารือผู้ถือประทานบัตรโพแทชชัยภูมิ เร่งผลิตปุ๋ยโพแทชตามนโยบายรัฐบาล

กพร.

กพร. หารือผู้ประกอบการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดชัยภูมิ กำชับเร่งดำเนินการผลิตแร่โพแทชให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดันประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตแร่โพแทชของอาเซียน ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กพร. หารือกับผู้ประกอบการเหมืองแร่โพแทช เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินโครงการผลิตปุ๋ยโปแตช ดังนั้น กพร. จึงได้ร่วมหารือกับ นางชลิดา พันธ์กระวี และนายสมัย ลี้สกุล ผู้บริหารของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT หนึ่งในผู้ถือประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทช ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการเหมืองแร่โพแทชของ APOT ที่จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุน ประกอบกับบริษัทฯ มีภาระหนี้เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐที่ต้องชำระรวมค่าปรับ ผิดนัดชำระคิดเป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้เงินผลประโยชน์พิเศษดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้โดยให้บริษัทฯ ผ่อนชำระด้วยผลผลิตแร่โพแทชของโครงการ

ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ กพร. จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำสัญญาฉบับใหม่ และให้ชำระด้วยผลผลิตแร่โพแทชของโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 8 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีผลผลิต โดยให้บริษัทฯ ส่งมอบแร่ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ บริษัทฯ เสนอว่าจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ภายในไม่เกิน 5 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2571 หากไม่สามารถผลิตแร่โพแทชได้จะยินยอมชำระหนี้เป็นเงินตามจำนวนหนี้ที่ผิดนัดทั้งหมดพร้อมค่าปรับร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงจนถึงวันที่ชำระจริง

“การหารือร่วมกันระหว่าง กพร. กับ APOT ในครั้งนี้เป็นการเร่งรัดการดำเนินงานและร่วมกันหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะมีการขับเคลื่อนโครงการต่อไปเพื่อให้เกิดการผลิตแร่โพแทชให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะนอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบแร่โพแทชซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิตปุ๋ยแล้ว ยังช่วยให้ต้นทุนในการผลิตปุ๋ยภายในประเทศลดลง และเกษตรกรไทยจะได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่ง กพร. พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแร่โพแทชของอาเซียนต่อไป” นายอดิทัตฯ กล่าว