A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

NEWS

    

“รมว.พิมพ์ภัทรา” เปิดงานประจำปี สศอ. OIE Forum 2566 พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย

“รมว.พิมพ์ภัทรา”

“รมว.พิมพ์ภัทรา” เปิดงานประจำปี สศอ. OIE Forum 2566 พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย เผยวาระเร่งด่วน 6 ด้าน หนุนภาคอุตฯ – ผู้ประกอบการไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

“นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงานและปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี OIE FORUM 2566 ครั้งที่ 15 “MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทย สู่ความยั่งยืน” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เผยวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี OIE FORUM 2566 “MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ ความยั่งยืน” หัวข้อ “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลก รวมถึงความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลอดจนภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการ SME ตามนโยบายรัฐบาล โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหา Moral Hazard หรือการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ภาคเกษตรและส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่น ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดวาระเร่งด่วน 6 ด้านสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ แผงวงจร 2. อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม” โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ควบคู่กับการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อและเป็นฐานลูกค้ามุสลิมรายได้สูงของไทย รวมถึงยาและเครื่องสำอาง และสปาฮาลาล 3. อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น 4. มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลภาคอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ 5. การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่านกลไกของหน่วยงานภายในกระทรวง และ 6. การเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สามารถนำพาประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตต่าง ๆ และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งสู่ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ” ที่ “เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ด้านความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน นอกจากนี้ เพื่อยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลดิจิทัล กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (i-Industry) ให้ลูกค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงบริการของกระทรวงในด้านต่าง ๆ ทั้งการอนุมัติ อนุญาต การชำระค่าธรรมเนียม การส่งเสริมพัฒนาให้คำปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงการรายงานข้อมูลการประกอบกิจการผ่านระบบ iSingleForm เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ดัชนีอุตสาหกรรม ออกแบบนโยบายและสร้างกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างตรงประเด็น ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน ภายใต้กฎหมายของกระทรวงอย่างเข้มข้น ครอบคลุม 4 ด้าน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการมีการประกอบกิจการที่ดี ลดข้อขัดแย้งและขจัดปัญหาข้อร้องเรียนของชุมชนและสังคม

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า สำหรับงานประจำปี OIE FORUM 2566 ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เข้าสู่ปีที่ 15 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีนำเสนอมุมมอง และแลกเปลี่ยนแนวคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่การเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล โดยการจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงาน ณ สถานที่จัดงาน จำนวนกว่า 550 คน และผู้เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ (Live Streaming) จำนวน 1,500 คน โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม การกล่าวถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงเสวนาในหัวข้อ “MIND : Set for Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากแวดวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จำนวน 11 เรื่อง ตลอดจนการเสวนาออนไลน์ 3 หัวข้อย่อย เผยแพร่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 วัน โดยหัวข้อที่ 1 “Manpower : ยกระดับแรงงานยุคใหม่ พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน” หัวข้อที่ 2 “Empowering Innovation & Digital Transformation : เสริมพลัง สร้างอนาคตอุตสาหกรรมไทย” และหัวข้อที่ 3 “Next Moves to Net Zero : อุตสาหกรรมไทย ก้าวต่อไปสู่เป้าหมายโลก”