A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

NEWS

    

สสว.เผย ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับภาวะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

สสว.เผย

สสว. เผย ผลสำรวจผู้ประกอบการ SME ด้านโครงสร้างต้นทุนและพฤติกรรมลูกค้า พบ ส่วนใหญ่เผชิญภาวะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมาก เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 92 กำลังซื้อลดลงและยังต้องเผชิญคู่แข่งจากโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดคือ การลดต้นทุน และกระตุ้นการใช้จ่าย

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุนและพฤติกรรมลูกค้า โดยสอบถามผู้ประกอบการ จำนวน 2,610 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22-31 สิงหาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มีสัดส่วนต้นทุนรวมต่อการขายสินค้าเฉลี่ยที่ร้อยละ 92 ซึ่งถือว่ามีต้นทุนสูงมากและหากพิจารณาประกอบกับแนวโน้มการทำกำไรที่ผ่านมาของกิจการแล้วไม่ได้อยู่ในช่วงขาขึ้นแสดงว่าธุรกิจกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยทั่วไปธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจที่กำลังเติบโตมักมีต้นทุนไม่เกินร้อยละ 50

ซึ่งจากผลการสำรวจครั้งนี้ต้นทุนหลักอยู่ในหมวดสินค้า/วัตถุดิบ ร้อยละ 43 รองลงมาคือ ค่าสาธารณูปโภค ร้อยละ 16 น้ำมันเชื้อเพลิงและการขนส่ง ร้อยละ 14 และค่าแรง ร้อยละ 12 ตามลำดับ ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 73.7 เผชิญภาวะต้นทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหมวดค่าสินค้า/วัตถุดิบ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าสาธารณูปโภคและค่าแรง เป็นรายการที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในทางลบสูง ขณะที่ SME ส่วนใหญ่ยังมีจำนวนลูกค้าทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2565 และมีจำนวนร้อยละ 31.8 ที่มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสาขาที่เพิ่มขึ้นชัดเจนอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมทางสังคม

การประเมินกำลังซื้อและพฤติกรรมของผู้บริโภคในมุมมองของผู้ประกอบการ SME พบว่า สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ ผู้บริโภคมีเทรนด์ความชอบเปลี่ยนแปลงเร็วและกำลังซื้อลดลง นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายบนโลกออนไลน์และมักรอซื้อสินค้าที่มีโปรโมชั่นมากขึ้น โดยผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 70.3 มีแผนการรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่เป็นการปรับเชิงรับ โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภัณฑ์หรือปรับการให้บริการ ตามเทรนด์ความต้องการ การปรับรูปแบบการให้บริการ การจัดโปรโมชั่น เป็นต้น โดยมีข้อสังเกตว่าประเด็นท้าทายที่เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ ๆ ในอนาคต SME ยังไม่พูดถึงมากนัก เช่น การสร้าง Branding ที่ยั่งยืน กลยุทธ์การขายในโลก online/platform ใหม่ ๆ มาตรฐานหรือเทรนด์สินค้าในอนาคต Carbon Issue, AI, New Skills

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SME คาดการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคปลายปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และภาคการผลิต อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากโลหะและผลิตภัณฑ์จากยาง โดยเหตุผลหลักมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเทศกาลปลายปีที่จะมีแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และความคาดหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล อาทิ มาตรการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภค เพื่อลดต้นทุนในการประกอบการ

ส่วนความช่วยเหลือที่ SME ต้องการจากภาครัฐมากที่สุด คือ ด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยการควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบ ลดค่าไฟฟ้า และลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รองลงมา คือ ด้านการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยส่วนใหญ่คาดหวังให้มีมาตรการเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ด้านภาระหนี้สินและเงินทุน โดยต้องการการเข้าถึงสินเชื่อที่ตรงกับความสามารถในการชำระคืนมากขึ้น รวมถึงนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินเดิมทั้งในระบบสถาบันและหนี้สินนอกระบบ และด้านการเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมธุรกิจ ส่วนใหญ่ต้องการให้ส่งเสริมความรู้ รวมถึงการทำตลาด เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันได้มากขึ้น

ทั้งนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวควรดำเนินการทุกภาคธุรกิจควบคู่กันไป เพื่อให้ครอบคลุมและช่วยบรรเทาปัญหาที่ผู้ประกอบการ SME เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ให้มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น