A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

ADVERTORIALS

    

สอบเทียบเครื่องมือวัดเพื่อความเป็น ‘มาตรฐาน’ อุตสาหกรรม





การสอบเทียบเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่ช่วยสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับผลการวัดของเครื่องมือวัดทุก ๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือวัดที่ใช้ในกระบวนการผลิต การทดสอบ และการวิเคราะห์ต่าง ๆ

AHdUSI.jpg




การสอบเทียบเครื่องมือวัด (Calibration) เป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิต เพราะเป็นกระบวนการที่ช่วยรักษาความถูกต้อง เที่ยงตรง แม่นยำให้กับเครื่องมือวัดตามมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งการสอบเทียบเครื่องมือวัดที่เหมาะสม ควรสอบเทียบกับห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025

โรงงานอุตสาหกรรมจะมีกระบวนการในการตรวจสอบและสอบเทียบเครื่องมือวัดให้มีความถูกต้องตามขอบข่าย ความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้และกำหนดไว้ เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานก่อนนำออกจำหน่าย เมื่อภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ สั่งซื้อเครื่องมือดังกล่าว ก็จะได้รับรองผลการตรวจสอบ (Inspection Certificate) หรือใบรับรองผลการสอบเทียบ (Calibration Certificate) เครื่องมือวัดนั้น ๆ มาด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในการสั่งซื้อ โดยในใบรับรองผลการตรวจสอบ หรือผลการสอบเทียบจะระบุคุณสมบัติเฉพาะต่าง ๆ ของเครื่องมือ เช่น พิสัยการวัด (Range) ค่าความละเอียด (Resolution) ค่าความถูกต้อง (Accuracy) และสภาวะแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นที่เครื่องมือสามารถทำงานได้ เป็นต้น

เมื่อเครื่องมือถูกนำไปใช้งานระยะหนึ่ง อายุของส่วนประกอบและเครื่องมือวัดที่ใช้งานอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีความคลาดเคลื่อนของผลการวัด อาจเกิดจากการ Drift หรือ การลอยเลื่อน (มอก. 235 เล่ม 14) หมายถึง การแปรผันอย่างช้า ๆ ตามเวลาของลักษณะทางมาตรวิทยาเครื่องมือวัด เนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ไฟฟ้า เคมี เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ใช้งานเครื่องมือวัดจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเสื่อมสภาพของเครื่องมือวัดยังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการใช้งานและการเก็บรักษา ดังนั้น เมื่อเครื่องมือวัดอยู่ในสภาวะดังกล่าว สิ่งที่ตามมาคือ ค่าการวัดของเครื่องมือที่เคยมีความถูกต้องเที่ยงตรง อาจบอกค่าที่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม ส่งผลให้ผลการวัดที่ได้รับไม่น่าเชื่อถือ หรือ หากนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้งานในกระบวนการผลิตก็ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการออกแบบและกระบวนการผลิต

การเปลี่ยนแปลงของเครื่องมือวัด (Drift) เป็นสิ่งสามารถที่จะตรวจพบและแก้ไขได้ผ่านกระบวนการสอบเทียบ ด้วยการใช้ตัวมาตรฐานการวัดที่สามารถสอบกลับได้สู่มาตรฐานแห่งชาติเพื่อสอบเทียบ ให้กับเครื่องมือวัดที่ใช้ในกระบวนการผลิต

องค์ประกอบของการสอบเทียบเครื่องมือวัด ที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ประกอบด้วย 4 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
  • เครื่องมือวัดอ้างอิง (Reference Standards Equipment)
  • ห้องปฏิบัติการสอบเทียบ (Laboratory)
  • บุคลากรผู้ทำหน้าที่ในการสอบเทียบ (Personnel)
  • วิธีการสอบเทียบ (Method)

    การสอบเทียบเครื่องมือวัด (Calibration) มี 2 วิธี คือ ทำเองภายในบริษัท และ ส่งไปทำที่ภายนอกบริษัท ตามศูนย์สอบเทียบต่าง ๆ ทั้งสองวิธีนี้ต้องคำนึงถึงการสอบกลับได้ (Traceability) และความไม่แน่นอนในการวัด (Measurement Uncertainty) จึงจะเกิดประโยชน์และเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง

    ความถูกต้อง/เที่ยงตรงของเครื่องวัดฯ มีผลต่อคุณภาพและต้นทุนการผลิตสินค้า การ Calibration หรือการสอบเทียบจึงต้องมีกฎเกณฑ์ ดังนี้
    1. จะต้องปฏิบัติและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
    2. ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้เรื่อง Calibration
    3. รู้ Accuracy และวัตถุประสงค์ของเครื่องมือวัด
    4. ต้องมีเครื่องมือมาตรฐานที่ดีพอ (ดีกว่า 3 – 10 เท่า)
    5. ต้องมี Traceability (การสอบกลับได้)
    6. ต้องมีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน

    เป้าหมายสำคัญของการสอบเทียบก็คือ เพื่อลดความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในการวัดโดยการรับรองความถูกต้องของอุปกรณ์ทดสอบ การสอบเทียบจะคอยเป็นตัววัดปริมาณ กำกับและควบคุมข้อผิดพลาดหรือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการวัดให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตามมาตรฐาน

    อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ‘มาตรฐาน’ คือ การสอบเทียบทุกปี เมื่อคุณได้รับผลลัพธ์จากการสอบเทียบก็จะสามารถปรับความถี่ของการสอบเทียบได้และ / หรืออัปเกรดเป็นเครื่องมือวัดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นหากจำเป็น


    ขอบคุณข้อมูลโดย TOOL MAKERS
    ขอบคุณภาพโดย PIXABAY