A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

ADVERTORIALS

    

วิธีเลือกใบเลื่อยสายพานให้ได้ผลผลิตสูงสุด





การเลือกใบเลื่อยตามประเภทการใช้งานจะทำให้คุณสามารถปรับปรุงคุณภาพ การตัด ให้เหมาะสมกับงานและเพิ่มปริมาณงานตัดได้สูงสุด

A0VYm8.jpg




สำหรับผู้ผลิตงานแปรรูปเหล็ก หรือ โลหะ หรืองานเลื่อยประเภทต่าง ๆ การทำความเข้าใจแนวคิดหลัก ๆ สัก 2-3 ประการ และการปฏิบัติตามคำแนะนำในการเลือกใช้ใบเลื่อยสายพานอย่างถูกต้อง จะช่วยให้คุณจำกัด ‘ตัวเลือก’ ให้แคบลงได้ จนเหลือเพียงใบเลื่อยที่เหมาะสมเพื่อรองรับการใช้งานส่วนใหญ่

ในทางทฤษฎี ใบเลื่อยและเครื่องเลื่อยนั้น มีตัวเลือกจำนวนมาก ทั้งใบเลื่อยและเครื่องเลื่อยสำหรับงานตัดแต่ละประเภท เพื่อให้คุณเลือกใบเลื่อยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับงานตัดวัสดุแต่ละอย่าง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ใช้งานจริง ๆ มักจะมีใบเลื่อยเพียงประเภทเดียวสำหรับตัดงานทุกอย่าง ตั้งแต่ชิ้นงานแผ่นบาง ๆ ท่อเหล็ก ไปจนถึงแท่ง สแตนเลสสตีล ที่มีความแข็งพิเศษ

ถึงแม้ว่าจะไม่มีใบเลื่อยใดที่สมบูรณ์แบบสำหรับทุกประเภทการใช้งาน แต่การพิจารณาถึงปัจจัยบางอย่างก็สามารถช่วยจำกัดตัวเลือกของคุณจากหลักร้อยให้เหลือหลักสิบได้

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงการเลือกใช้ใบเลื่อย
1. ความยาว ความหนา ความกว้าง และวัสดุของใบเลื่อย
ใบเลื่อยสายพานมีลักษณะที่จำเพาะ สำหรับความยาว ความหนา และความกว้างของใบเลื่อย ตัวเลขเหล่านี้เป็นไปตามข้อกำหนดของอุตสาหกรรม และโดยพื้นฐานแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีขนาดและระยะห่างของพูเล่ย์ (Pulley) เป็นตัวกำหนดความยาวของใบเลื่อย ในขณะที่ช่องว่างระหว่างตัวประคองใบเลื่อย (Side Guides) หรือ ลูกปืนประคอง (Roller Bearings) หรือทั้งสองอย่าง (ขึ้นอยู่กับตัวเครื่อง) จะเป็นตัวกำหนดความหนาของใบเลื่อย เพราะหากใบเลื่อยหนาเกินไปจะไม่สามารถผ่านตัวประคองหรือลูกปืนประคองได้ ส่วนใบเลื่อยที่บางเกินไปจะ ทำให้ตัวประคองหรือลูกปืนประคองไม่สามารถประคองใบเลื่อยให้แน่นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและคุณภาพการตัดลดลง ซึ่งสามารถตรวจจับการสั่นสะเทือนได้ง่ายจากเสียงดัง

ภายใต้เงื่อนไขการตัดโดยทั่วไป ใบเลื่อยที่กว้างที่สุดจะตัดได้ตรงที่สุด ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กันระหว่างความกว้างของใบเลื่อยและความแข็งแรงของสันใบเลื่อย (Blade Beam) หลักการง่าย ๆ ก็คือ เมื่อความแข็งแรงของสันใบเลื่อย เพิ่มขึ้นคุณภาพการตัดก็จะดีขึ้น วัสดุที่ใช้ในการผลิตใบเลื่อยจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตัดด้วยเช่นกัน

  • ใบเลื่อย Bi-metal (ใบเลื่อยไฮสปีดสตีล) เป็นใบเลื่อยผลิตจากเหล็กกล้าความเร็วสูง มีความแข็งแรงมาก ต้านทานการสึกหรอสูงเหมือนประกอบด้วยใบเลื่อยสองชิ้น ใช้งานได้หลากหลายที่สุด โดยเฉพาะในการตัดโลหะ โดยสามารถตัดวัสดุที่ค่อนข้างแข็งได้ถึงระดับ 40-45 HRC

  • ใบเลื่อยติดคาร์ไบด์ (Carbide-tipped blades) สามารถตัดได้ถึงระดับความแข็งที่ 60-62 HRC มีปลายฟันที่ขึ้นรูปให้เป็นวัสดุรองรับ จากนั้นเชื่อมคาร์ไบด์ติดเข้ากับปลายฟันและเจียรให้เป็นรูปร่าง โดยส่วนมากจะนิยมนำไปใช้กับ งานตัดวัสดุด้านอากาศยาน เช่น โลหะพวกซูเปอร์อัลลอยที่ทำจากนิกเกิลและไทเทเนียม อีกทั้ง ยังมีคุณสมบัติพิเศษในการตัดเหล็กเนื้อแข็งหรือไม้ที่เนื้อแข็งพิเศษ

    ใบเลื่อยคาร์ไบด์สามารถตัดงานได้เร็วกว่า ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนใบเลื่อย และสามารถตัดชิ้นงานได้พื้นผิวที่เรียบกว่า เมื่อเทียบกับใบเลื่อย Bi-metal

    2. รูปทรงฟันเลื่อย (Tooth Geometry)
    รูปทรงของฟันเลื่อยเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในลำดับถัดไป เพราะรูปทรงของฟันเลื่อยจะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพและคุณภาพของการตัด รวมถึงความสามารถในการรองรับเศษโลหะ (ขี้เลื่อย) และอายุการใช้งานของใบเลื่อย ซึ่งฟันเลื่อยก็มีรูปรงหลากหลายแบบให้เลือกตามประเภทของงานที่จะตัด

    แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการตัดสินใจ คือ ลักษณะของคลองฟันเลื่อย (Tooth Set) ซึ่งเหลี่ยมมุมของคลองฟันดังกล่าวมีผลต่อประสิทธิภาพในการรองรับเศษโลหะและประสิทธิภาพการตัดโดยรวม และขนาดของการคัดคลองฟัน (Pinching Application)


    การพิจารณาเลือกขนาดฟันที่เหมาะสม
    ตัวเลขที่เราเรียกขนาดฟัน คือ TPI (Teeth Per Inch) ค่า TPI คือ จำนวนฟันของใบเลื่อยในระยะความยาว 1 นิ้ว เช่น ใบเลื่อย 10/14 จะมีฟันเลื่อย 10 ฟัน จากนั้นนิ้วถัดไปจะมีฟันเลื่อย 14 ฟัน สลับกันไป เรียกว่า Variable Pitch ทำให้ใบเลื่อยมีประสิทธิภาพในการตัดและอายุการใช้งานนานขึ้น

    การเลือกใบเลื่อยให้เหมาะสม นอกจากรูปแบบของใบเลื่อย จำนวนฟันของใบเลื่อย หรือ TPI จะต้องดูลักษณะของวัตถุที่นำมาตัดด้วย หากเป็นชิ้นงานทึบตัน (Solid) จะใช้การวัดความกว้างของวัตถุ หากมีลักษณะเป็นท่อ (Tube) หรือเหล็กรูปพรรณ (Profile) จะใช้การวัดความหนาของวัตถุว่ามีขนาดเท่าไร

    ลักษณะของใบเลื่อยที่ใช้ในการตัดวัตถุ จะมี 2 แบบ คือ
  • ใบเลื่อยตัดวัตถุที่มีลักษณะตัน (Solid) เช่น เหล็กเพลาตัน, เหล็กทำแม่พิมพ์ (Mold) ทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยม หรือวงกลม การเลื่อยตัดชิ้นงานที่ตันจะใช้ใบเลื่อยที่มีขนาดฟัน (TPI) หยาบ เพราะฟันใบเลื่อยที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ตัดงานได้เร็วขึ้นและคายเศษการตัดหรือขี้เลื่อยได้ดีกว่า ขนาดฟันที่นิยมใช้ เช่น 4/6, 3/4, 2/3 เป็นต้น
  • ใบเลื่อยตัดท่อ (Tube) หรือวัตถุรูปทรงอื่น ๆ ที่เป็นเหล็กรูปพรรณ (Profile) เป็นการตัดวัตถุที่ไม่ตัน พื้นผิวที่ตัดจะแตกต่างกับวัตถุมีลักษณะตัน เช่น งานตัดท่อ พื้นผิวการตัดจะมีการสัมผัสใบเลื่อยน้อยกว่าแบบตัน จึงควรเลือกใช้ฟันเลื่อยแบบถี่มากขึ้น ทำให้การตัดราบรื่นและลดปัญหาเรื่องฟันแตก/บิ่น ฟันใบเลื่อยที่นิยมใช้ เช่น 6/10, 5/8, 4/6 เป็นต้น

    นอกจากการพิจารณาเลือกใบเลื่อยสายพานที่มีคุณภาพแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือ การเลือกประเภทเครื่องเลื่อยให้ถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะงานที่จะตัด เพราะทั้ง 2 องค์ประกอบจะมีผลอย่างมากต่อจำนวนชิ้นงานตัด อายุการใช้งาน และต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


    ขอบคุณข้อมูลและภาพโดย TOOL MAKERS