A comprehensive guide to manufacturers, distributors, and suppliers providing machinery, industrial equipment and automation system in Thailand.

NEWS

    

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ เดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 47 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น สูงสุดในรอบ 47 เดือน โดยมีปัจจัยมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ ส.อ.ท. ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนมกราคม สูงสุดในรอบ 47 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

สมอ.

ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิตตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน และอานิสงส์การเปิดประเทศของจีน ขณะเดียวกันการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ต้นทุนประกอบการประเภทราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน

สำหรับปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้มาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หดตัวลง เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย ขณะที่สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของภาคเอกชน

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,316 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 75.0 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 53.8 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 55.0 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 45.1 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 35.5 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 31.3 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.1 ในเดือนมกราคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการลงทุน รวมถึงการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1) ขอให้ภาครัฐเร่งการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

2) เสนอให้ภาครัฐบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง